วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

หยิปหมั่น ยิปมัน หรือ อิปมัน ? ( Yip Man Jip man or Ip man ?)




จริง ๆ แล้วผมตั้งใจเขียนบล็อคเกี่ยวกับภาษา ศิลปะวัฒนธรรมเอเซียนานแล้วแต่ก็ไม่มีโอกาสได้เขียนซักที ไม่รู้ยุ่งมาก ขี้เกียจ หรือขาดแรงบันดาลใจกันแน่
แต่อยู่ ๆ ที่ลุกขึ้นมาเขียนบทความนี้ แรงผลักดัน
ก็คงต้องบอกว่ามาจาก ความหงุดหงิด รำคาญใจ
เพราะตอนนี้ไปในเน็ตเวลาคนพูดถึงหนังหยิบหมั่น
แต่คนดันชอบเรียกกันว่า ไอพีแมนกัน
แล้วยังจะโต้แย้งด้วยว่าจะอ่านว่า หยิบหมั่น หรือ ยิปมันได้ยังไง
บางคนบอกว่าที่ถูกคือควรจะอ่านว่า "อิ๊ปมัน" ว่าเข้าไปนั่น
หลาย ๆ ที่ต้องสมัครสมาชิกถึงจะเข้าไปตอบได้ อย่างกระทู้ที่พันธ์ทิพย์นั่น
ผมเองขี้เกียจเข้าไปสมัครให้ยุ่งยาก ผมก็เลยเขียนบทความนี้ขึ้น
เอาไว้เป็นแหล่งอ้างอิงสำหรับอธิบาย
ใครอยากอ้างอิงก็คงเอาลิงค์ไปลงเอง


ประการแรกต้องยืนยันครับ Ip man หรือ Yip man Jip man
ล้วนแต่อ่านว่า "หยิบหมั่น" ครับ
เพราะเป็นการสะกดอักษรโรมันจากหลักภาษาจีนกวางตุ้ง
มีบางคนถามว่าแล้วทำไม Ip man ขึ้นต้นด้วยตัวไอ จะเป็นเสียง "ย" ได้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องยกความจริงที่ว่าอักษรโรมันมีเพียง 26 ตัว ขึ้นมาก่อน
ซึ่งจะแทนเสียงได้จำกัดมาก ในขณะที่ภาษาทางเอเซียกลับมีเสียงพยัญชนะที่เยอะกว่า

ประเด็นสำคัญคือหลักในการใช้อักษรโรมันของแต่ละชาติสะกดเสียงนั้นใช้แตกต่างกัน
ไม่เฉพาะในทวีปเอเซียแม้แต่ประเทศทางทวีปยุโรปเองก็ยังมีหลักในการอ่านต่างกัน
ซึ่งอักษรโรมันเองก็มีจำกัดตรงที่มีอักษรเพียง 26 ตัว
จึงไม่สามารถแทนเสียงได้ครบเสียงกับทุกชาติทุกภาษา

ตัวอย่างชื่อคน

Henry ถ้าอ่านอย่างตามหลักภาษาอังกฤษต้องอ่านว่า "เฮนรี่" แต่ถ้าอ่านตามหลักภาษาฝรั่งเศสก็ต้องอ่านว่า "เอิงรี"
Isac ถ้าอ่านตามหลักภาษาอังกฤษต้องอ่านว่า "ไอแสค" แต่หากอ่านตามหลักภาษาอาระบิคจะต้องอ่านว่า "อิสอัค"
John ถ้าอ่านตามหลักภาษาอังกฤษต้องอ่านว่า "จยฺอนห์" แต่ถ้าอ่านตามหลักภาษาโปรตุเกสต้องอ่านว่า "โจฮัน"
Antonio ถ้าอ่านตามหลักภาษาอังกฤษคงอ่านว่า "แอนโทนีโอ" แต่เพื่อนผมจากนิวซีแลนด์บอกผมว่าชื่อเขาออกเสียงว่า "อันโตเนียว"

คงต้องยกตัวอย่างภาษาแถบเอเซียขึ้นมาขึ้นมาประกอบการอธิบาย

ตัวอย่างที่ 1 ภาษาญี่ปุ่น

เอาแค่ชื่อชาติพันธ์ก่อนเลย คนญี่ปุ่นเรียกชาติตนเองว่า Nihon
ชื่อนี้ถ้าใครอ่านโดยใช้หลักการอ่านแบบภาษาอังกฤษ
ก็จะอ่านว่า "นิฮอน" แต่ตามหลักภาษาญี่ปุ่นแล้ว คำนี้อ่านว่า "นิฮ่ง"
เพราะว่าไม่ใช่ภาษาอังกฤษแต่เป็นการสะกดเสียงญี่ปุ่นด้วยอักษรโรมัน(โรมันจิ) ตามหลักภาษาญี่ปุ่น
หลักในการใช้อักษรโรมันสะกดเสียงของญี่ปุ่นเองก็ใช้หลักการของภาษาญี่ปุ่นไม่ใช่หลักของภาษาอังกฤษ

คำว่า ga ถ้าให้คนชาติอื่นอ่านก็คงอ่านว่า กะ
แต่ถ้าเป็นคนญี่ปุ่นอ่าน จะอ่านออกเสียง นี้ว่า กะ หรือ งะ ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของคำ
ภาษาญี่ปุ่น ตัว g ใช้แทนทั้งเสียง ก และ ง และเสียง ก นั้นก็ไม่ได้ตรงกับเสียง ก กับภาษาบ้านเรา
แต่เป็นเสียง ก แบบ แข็ง ๆ ที่สอดแทรกออกมา ga ก็จะออกมาเป็นเสียง "ก๊ะ" แข็ง ๆ ซึ่งใช้อักษรบ้านเราสะกดไม่ได้

เอาคำคุ้น ๆ อีกคำหนึ่งคือ Tsunami บางคนบอกว่า น่าจะอ่านว่า ทสึนามิ
แต่ไม่ใช่ครับอ่านว่า "สึนามิ" เลยมีคำถามว่าแล้วจะใส่ตัว T ไปทำไมเมื่อไม่ออกเสียง
ก็อย่างบอกล่ะครับว่านี่คือหลักภาษาญี่ปุ่น เพราะอักษรที่เขาใช้คือตัว Tsu
ถ้าอักษรนี้อยู่ข้างหน้าคำจะออกเสียงแค่ "ซึ" อย่าง Tsukue จะออกเสียงแค่ ซึคิเอะ
ตัว ท จะมีบทบาทเมื่ออยู่กลางคำเท่านั้น อย่าง Kubetsu
ตัว T จะถูกนำมาใช้เป็นเสียงตัวสะกดกลายเป็น "คุเบทสึ"

ตัวอย่างที่ 2 ภาษาจีนกลาง

ในจีนกลาง มีเสียงควบเสียงคู่ประเภทไม่ออกเสียงหลายคำ ขอยกตัวอย่าว เสียง ยรือ
เสียงนี้ไม่สามารถหาเสียงตัวใดในภาษาทางยุโรปมาทดแทนได้
ในการสะกดต้องหาอักษรตัวใหนที่ใกล้เคียงที่สุดมาใช้แทน จึงได้มีการเลือกเอาตัว R มาใช้
เนื่องจากเสียง ยรฺ เสียง ย นั้นออกเสียงค่อนข้างเบามากจนแทบจะไม่ได้ยิน(แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่ออกเสียง)
ยกตัวอย่างคำว่า "Ren"
ถ้าเป็นการสะกดภาษาอื่นคงอ่านว่า เรน แต่ถ้าเป็นภาษาจีนกลางคำนี้จะอ่านว่า เยริ๋น
เพราะอักษรตัว R ที่ใช้สะกดแบบฮั่นยวี่พินอินมันคือเสียงแทน ยรฺ (เสียงย.ยักษ์ควบกับการยกลิ้นห่อคล้ายร.เรือ)
เราอาจจะได้ยินใครบางคนออกเสียงเป็นคำว่า "เริ๋น" ไปเลย
โดยเฉพาะแถวปักกิ่ง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ได้มีเสียง ย. ติดมาด้วย
มันเป็นความเคยชินของผู้คนในการออกเสียงหนักเบา
หากจะสะกดโดยใช้คำว่า Yren ยิ่งจะทำให้การออกเสียงห่างไกลความจริงออกไปอีก

คำว่า เอี๋ยง แค่ถ้าจะสะกดเป็นภาษาไทยโดยใฃ้ว่า "เอยี๋ยง" ก็ยังจะออกเสียงกันผิดหนักเข้าไปใหญ่
เพราะคนอ่านจะไปเน้นหนักเสียงย.ทั้งที่เป็นเสียงเบาและจะละเลยการออกเสียงอ.ซึ่งเป็นเสียงหลักไป
คำนี้สะกดเป็นอักษรโรมันว่า "Yang" หรือที่คนไทยชอบออกเสียงว่า "หยางนั่นล่ะ"
คำนี้ถ้าจะสะกดโดยใช้ว่า IANG ก็คงอ่านไม่ได้ใกล้เคียงแถมเสียง อยฺ หายไป
ก็อย่างที่บอกนั่นล่ะครับว่าออกเสียงเบาก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ออกเสียง
การสะกดคำนี้จึงจำเป็นต้องใช้อักษร Y เพื่อไม่ให้เสียง อยฺ หายไป

มาเข้าเรื่อง หยิป อิป หรือ ไอพี กันซะที

葉問 ชื่อนี้เป็นชื่อปรมาจารย์วิชามวยหวิงชุนท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงทั่วโลก
ชื่อนี่ถ้าอ่านเป็นภาษาจีนกลางจะอ่านว่า เย่เวิ่น
หากจะเขียนเป็นภาษาไทยว่า "เอยี่ยเวิ่น" ก็คงอ่านกันไม่ออก
เพราะอักษรแต่ล่ะชาติก็ย่อมมีข้อจำกัดในการออกเสียงและสะกดเสียง
อักษรโรมันก็เช่นกันสะกดว่า Ye Wen หากทะลึ่งไปอ่านโดยใช้หลักสะกดคำแบบภาษาอังกฤษ
จะอ่านได้ว่า "เย เวน" ซึ่งกลายเป็นชื่อใครที่ใหนก็ไม่รู้
แต่ชื่อนี้เป็นภาษากวางตุ้งครับ ต้องอ่านเป็นภาษากวางตุ้ง ไม่ใช่ ภาษาจีนกลาง
เราจึงไม่เห็นใครสะกดชื่อนี้ว่า Ye Wen
จะเห็นมีก็แต่ Yip Man Jip man หรือ Ip man
ซึ่งสะกดตามหลักภาษากวางตุ้ง ซึ่งอ่านเป็นภาษาไทยก็ต้องสะกดเป็นภาษากวางตุ้ง
ไม่ใช่สะกดเป็นภาษาอังกฤษ และเสียงนี้ไม่ใช่เสียง อ. หรือ เสียง ย. โดยตรง
แต่เป็นเสียงผสมผสานอย่างละนิดของสองเสียง
ต่อให้เขียนเป็นภาษาไทย อยิป หมั่น ก็ยังได้เสียงไม่ตรงเสียง
เพราะคนไทยคงอ่านว่า "อะยิป หมั่น"
ในภาษาไทยเองยังต้องเลี่ยงไปสะกดเป็น หยิบหมั่น แทน
เพราะแม้ไม่ได้เน้นหนักที่เสียง ย. ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่มีเสียง ย.
การสะกดว่า "หยิปหมั่น" จึงได้เสียงใกล้เคียงกว่าจะสะกดว่า "อิปหมั่น"
และโอกาสที่จะอ่านได้ถูกต้องไม่ผิดพลาดมีมากกว่าที่จะสะกดว่า "อยิปหมั่น"

เสียง อยฺ ไม่ใช่เสียงที่เกิดจากเพดานปากด้านหน้าเหมือนเสียง ย.
แต่เป็นเสียงที่เกิดจากคอเสียดแทรกมาออกเพดานปากด้านหน้า เสียงจึงแตกต่างกัน
แต่อักษรโรมันที่ใกล้เคียงที่สุดในการสะกดคือตัว Y เป็น Yip Man
และ J เป็น Jip Man เพื่อไม่ใช้เสียง ย. หายไป
หรือสะกดว่า Ip Man(ตามหลักสมัยใหม่) เพื่อเน้นเสียง อ.ให้ชัดขึ้น (เพราะว่ามีทั้งสองเสียง)
แต่ไม่ว่าจะสะกดว่า Yip Man หรือ Ip Man ต่างก็ให้เสียงได้แค่ครึ่งเดียวทั้ง 2 อย่าง
แต่ก็ถูกทั้งสองคำ เพราะไม่สามารถสะกดให้ได้เสียงที่ใกล้เคียงกว่านี้แล้ว
เพราะข้อจำกัดในอักษรโรมันดังที่ได้กล่าวไปแล้ว

ในการใช้อักษรโรมันสะกดตามหลักแล้วคำนี้นิยมจะสะกดว่า Yip man เป็นหลักของมหาวิทยาลัย Yale
แต่ถ้าสะกดโดยใช้หลัก Juyutping (粵拼 ยวี๋ดเผ่ง หลักสะกดของยวี๋ด) คำนี้จะสะกดว่า Jip man ครับ
ถ้าใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับพิมพ์ภาษากวางตุ้งก็ต้องเลือกว่าจะสะกดตามหลักการใหน
ถ้าเป็น Yale ก็ต้อง สะกดว่า Yip man แต่ถ้าเลือกเป็น Juyutping จะต้องสะกดว่า Jip man ครับ
ซึ่งพิมพ์ Yip Man บน Juyutping ก็ไม่มีทางได้ตัวอักษร 葉 ออกมาครับเพราะหลักสะกดมันต่างกัน
และที่สำคัญพิมพ์ Ip Man บนทั้งสองระบบก็ไม่ได้ตัว 葉 ออกมาครับ
เพราะหลักความนิยมใหม่ยังไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์รองรับ

ในปัจจุบันภาษากวางตุ้งบนเกาะฮ่องกงมีพัฒนาการ วิวัฒนาการ หรือจะเรียกว่าวิบัติการก็ตามเถอะ
คำควบหลาย ๆ คำเด็กวัยรุ่นหรือคนรุ่นใหม่จะพูดห้วนขึ้นและสั้นลง แม้การสะกดอักษรโรมันก็เช่นกัน
มีความนิยมใหม่ ๆ ว่า ในเมื่อออกเสียงเบาแล้วก็จะไม่นิยมใส่อักษรลงไป
อย่างคำว่า 我 หงอ ในภาษากวางตุ้ง คนอายุ 25 ปีลงมานิยมออกเสียงว่า อ๋อ(ส่วนใหญ่เป็นสาวๆ)
และจากเดิมที่เคยสะกด ngo ก็กลายเป็นสะกดแค่ o แทน
愛 งอย คนรุ่นใหม่จะนิยมออกเสียงว่าออย มากกว่า จากเดิมที่เคยสะกดว่า ngoy ก็กลายเป็นสะกดแค่ oy แทน
สมัยก่อนเวลาผมดูหนังภาษากวางตุ้งจะได้ยินคำว่า "หงอ งอย เน๋ยฺ" (ฉันรักเธอ)
ตอนนี้ผมชักจะคุยกับเด็กวัยรุ่นจากฮ่องกงไม่ค่อยรู้เรื่องแล้ว

ในภาษากวางตุ้งฉบับฮ่องกง มีพัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปในการออกเสียงมากขึ้น
จนทุกวันนี้มีคำพูดใหม่เรียกว่า "ภาษาฮ่องกง"
เพราะมีความแตกต่างจากภาษากว่างตุ้งเดิมบนแผ่นดินใหญ่หรือนอกแผ่นดินมากขึ้น
มีการห้วนเสียงหลัก อย่าง งับ เป็น อั๊บ เหง่า เป็นเอ่า ง๊าม เป็น อ๊าม
ตอนแรกผมได้ยินคำว่า อ๊าม๊าม ผมงงในช่วงแรก
แล้วค่อยมาเข้าใจภายหลังว่ามันคือ อ๊ามอ๊าม ซึ่งก็คือ ง๊ามง๊ามในแบบกวางตุ้งเดิม ๆ ที่คุ้นเคยนั่นเอง
แม้แต่ตัวสะกดยังออกเสียงเพื้ยนไปจากคนรุ่นเก่าจนกลายเป็นคนละคำ
อย่าง ก๋อง เป็น ก๋อน ฉางจั๊บ เป็น ฉามจั๊บ ผั่งเย๋า เป็น ผั่นเย๋า หรือตัวควบ อย่าง กวอ ก็ออกเสียงกันแค่ กอ
ผมได้ยิน "เล๋ยฺก๋อนตั๊กอ๊าม" ฟังแล้วงงเลยล่ะครับ เพราะถ้าเป็น คนรุ่นผมจะพูดว่า "เน๋ยฺก๋องตั๊กง๊าม"

ไม่เฉพาะภาษากวางตุ้ง เท่านั้น ภาษาจีนกลาง ภาษาอื่น ๆ หรือแม้แต่ภาษาไทยเองก็มีการเปลี่ยนแปลงทุกวัน
ในภาษาเวียดนาม ตัว V เดิมทีคือเสีย ยวฺ ซึ่งในปัจจุบันเสียงเบาจะหายจนแทบไม่ได้ยินเลย
อย่าง Viet nam จากที่เคยออกเสียง เยวี๋ยดนาม ปัจจุบันก็เหลือแค่ เหวียตนาม
Vo ยวฺ๋อ ปัจจุบันนี้ถ้าไม่ได้ยินออกเสียงว่า ย๋อ (เสียงควบ ว หายไป) ก็จะได้ยินว่า ว๋อ (เสียง ย. นำหายไป)

ส่วนในภาษาไทยเอง พัฒนาการของภาษาเรียกว่าเข้าขั้นวิบัติ
จะเห็นได้จากการเขียนบล็อคหลาย ๆ บล็อคบนอินเตอร์เน็ต
เรียกว่าไม่น่าเชื่อว่าจะเละเทะได้ขนาดนี้ ยิ่งตัวควบกล้ำพิลึกพิลั่นเข้าไปทุกที
อย่าง หวัดดีคับ กรูล่ะเซร็ง ปรวดกะบราล เปงอารัยของมังหว่า
ลำคานเดกพวกนี้ เฃียนฎี ๆ มัณจะฏายมั๊ย ณึฆว่าเฒ่ณัฆหรืองัย
หรืออยากเห็นได้ชัดเจนลองไปอ่าน Hi5 ของเจ้าสำนักอะไรซักอย่างที่ออกมาเป็นข่าวดังเมื่อกลางปีที่แล้ว

ตัวอย่าง
"โอย...วันๆมีแต่ไอ้พวก กากๆ มารองของรองวิชาโอย.....เบื่อจิ้ง................
ไม่รู้ว่า ว้างงานกัน มากเรยไช้ไม้ วันๆ มีแต่คน อยากตาย มารองของกันอยู่ได้
แขนขาหักก็มาโทดตู วันนี้ ก็มีคนแขนหักไปอีกคน ละ
จะประกาศ เรยนะ ว่า วิชานี้ มันคือสมาธิเพือสุขพาพไม่ไช้การต่อสู้ โว้ย
มาตายกันอยู่ ได้ ทุก วัน ไม่รู้จักจบจักสิ้น จะไห้บอกกันอีกกี่ครั้งเนี้ยถึงจะเข้าไจ กัน โอย...เซง"

นี่ล่ะครับ ภาษาวิบัติฉบับวัยรุ่นปัจจุบันนี้ จะพบว่าไม่มีอะไรวิบัติเกินกว่านี้อีกแล้ว
และยังมีอีกมากมายเกินกว่าจะยกมาหาอ่านได้ตามบล็อคและกระทู้ทั่วไป

จะสังเกตว่าคนรุ่นเก่าจะยังคงสะกดคำนี้ว่า Yip เช่นฟรานซิส ยิป (คนร้องเพลงเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้)
หรือแม้แต่ผู้กำกับหนังหยิปหมั่นเอง ก็แซ่หยิปและสะกดแซ่ตนเองโดยใช้รูปแบบเดิมคือ Yip
ส่วน Ip man ซึ่งเป็นหลักนิยมใหม่ ๆ ที่ผมเพิ่งพบเห็นเมื่อช่วง 5-6 ปีให้หลังมานี้เอง
และเป็นหลักสะกดที่ยังไม่มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์รองรับสังเกตุได้ว่าคนรุ่นเก่าจะไม่ใช้กัน
แต่คนรุ่นใหม่ส่วนมากจะสะกดคำนี้ว่า Ip เพราะไม่ค่อยให้ออกเสียงไปเน้นหนักที่ตัว ย. จนเป็นเสียง ยิป
ซึ่งคนฮ่องกงรุ่นใหม่จะออกเสียง ควบ เสียง ย. หรือ เสียง ง. เป็น เสียง อ. กันมากขึ้น
สังเกตุได้จากหนังฮ่องกงที่ดาราวัยรุ่นแสดงในทุกวันนี้
(ผมว่าดาราวัยรุ่นพวกนี้ล่ะตัวดี เพราะวัยรุ่นก็เรียนแบบดาราอีกที)

อย่างคำว่า หยิป คนรุ่น ใหม่ราย ๆ คน จะออกเสียงสั้น ๆ ว่า อิป
ซึ่งเสียง ย. เบาลงจนแทบจะไม่ได้ยิน (แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ออกเสียง)

แต่ถ้าคนรุ่นเก่าเราจะได้ยินเสียง "หยิป" ออกมาเต็ม ๆ เสียง
แล้วก็ขอย้ำครับแม้จะสะกดว่า Ip man ก็ไม่ได้อ่านว่า "อิ๊ปมัน" นะครับ
ยังไงก็เป็น "หยิบหมั่น" อยู่ดี
เพราะออกเสียง ย. เบา ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีเสียง ย. นะครับ
เพียงแต่ว่ามันเบามากเท่านั้นเอง
และที่สำคัญ I ตัวใหญ่ p ตัวเล็ก รวมกันเป็น Ip ก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเป็นคำเดียวกัน ไม่ใช่อักษรย่อ
จะอ่านว่าไอพี แมนไม่ได้เด็ดขาด
ถ้าจะทะลึ่งอ่านว่าไอพี ก็แสดงว่าต้องเป็นตัวย่อทั้งประโยค
ถ้าอย่างนั้นคงต้องอ่านว่า ไอพี เอ็มเอเอ็น ไม่ใช่ ไอพี แมน
และถ้าใครทะลึ่งอ่านอย่างนั้นผมคงต้องขอเรียกคน ๆ นั้นว่า "พิเรนทร์แมน" แล้วล่ะครับ
แต่ที่สำคัญที่สุดครับ ชื่อนี้เป็นชื่อบุคคลครับ
เป็นชื่อบุคคลระดับปรมาจารย์ ชื่อที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึก
จึงควรจะให้เกียรติโดยการอ่านให้ถูกต้อง หยิปหมั่นครับ ไม่ใช่ ไอพีแมน




รวมภาพถ่ายของอาจารย์หยิปหมั่น

หลักสำคัญก็คือ แม้ว่าจะเขียนด้วยอักษรโรมัน
แต่หลักในการอ่านของแต่ละภาษาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
หากอ่านโดยใช้ความเคยชินเดิม ๆ ของการอ่านภาษาอังกฤษ
รับรองว่าอ่านออกมาผิดแน่นอนครับ

ไม่ต้องดูอื่นไกลเอาชาติที่มีภาษาใกล้เคียงเรามากที่สุดคือภาษาลาว
แต่หลักการสะกดอักษรโรมันก็แตกต่างกันจนสามารถเข้าใจกันผิดได้
Bantuk ถ้าพยายามอ่านให้มีความหมายด้วยหลักการสะกดแบบไทย ๆ น่าจะอ่านได้ว่า "บรรทุก"
แต่ความจริงแล้วในภาษาลาวสะกดแบบนี้อ่านว่า "บันทึก"
Su-Kay สะกดตามหลักภาษาลาวคำนี้ถ้าอ่านแบบไทย ๆแล้วคงอ่านไม่เข้าใจ
แต่ถ้าบอกว่าถ้าสะกดแบบไทย ๆ จะสะกดว่า Sue-Khaai ก็จะอ่านเข้าใจขึ้นมาทันทีว่า "ซื้อ-ขาย"
Em Dao คำนี้ถ้าอ่านสะกดโดยใช้หลักสะกดอักษรโรมันของภาษาลาวจะอ่านว่า "เอื้อมดาว"
แต่ถ้าอ่านโดยหลักสะกดอักษรโรมันของภาษาเวียดนามจะอ่านได้ว่า "แอม ย๋าว"
ถ้าจะสะกดตามหลักภาษาไทยก็จะใช้ว่า Ueam Dao

จะเห็นได้ว่าแม้ภาษาที่ใกล้เคียงกันที่สุดยังใช้หลักในการสะกดอักษรโรมันแตกต่างกัน
จึงควรทำความเข้าใจว่าอักษรโรมันสะกดด้วยหลักภาษาใดก็ควรอ่านตามหลักภาษานั้น ๆ
ไม่ได้ใช้หลักภาษาอังกฤษเสมอไปเพราะจะทำให้ได้เสียงที่ไม่ถูกต้องออกมา

จะเห็นได้ว่าตามหลักสากลในการอ่านชื่อบุคคล
เขาอ่านโดยใช้หลักภาษานั้น ๆ ออกเสียง ไม่ได้ใช้หลักภาษาอังกฤษ

ตัวอย่างเช่น

Jean ชื่อนี้ถ้าอ่านผิดก็จะกลายเป็นชื่อคนอื่นไปเลย
Jean Connery = ชอน คอนเนอรี่ ไม่ใช่ จยีน คอนเนรี่
Jean Henri Dunant อ่านว่า ฌอง เอิงรี ดูนอง ไม่ใช่ จยีน เฮนรี่ ดูแนนท์
Jean-Claude Van Damme ฌอง คลอด แวนแดม
tin tin แตงแตง ไม่ใช่ ตินติน

ตัวอย่างชื่อคนที่สะกดด้วยอักษรโรมันในภาษาต่าง ๆ
หากใช้หลักการอ่านแบบภาษาอังกฤษจะเพี้ยนเข้าป่าทันที
กลายเป็นชื่อใหม่ขึ้นมาทันที

เริ่มจากชื่อจีนผมเองก่อนแล้วกัน 陳德明
อักษรสามตัวนี้ถ้าสะกดออกมาเป็นอักษรโรมันแล้วจะออกมาได้อย่างนี้

สะกดอักษรโรมัน ตามหลักภาษา เสียงอ่านจริง อ่านแบบสะกดภาษาอังกฤษ
Chan dak ming (จีนกวางตุ้ง) ฉั่น ตั๊ก เหม่ง ชาน ดัก มิง
Chen de ming (จีนกลาง) เฉินเต๋อหมิง เชน เด มิง
Tang tek ming (จีนแต้จิ๋ว) ตั้ง เต็ก เม้ง แทง เทก มิง
Tran duc minh (เวียดนาม) เจิ่น ดึ๊ก เมงห์ ทราน ดั๊ก มินห์
ถ้าอ่านตามหลักสะกดภาษาอังกฤษแล้วผมจะมีชื่อภาษาประหลาด ๆ เพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว

ลองดูชื่ออื่น ๆ ที่สะกดอักษรโรมันกันดูบ้าง
สะกดอักษรโรมัน ตามหลักภาษา เสียงอ่านจริง อ่านแบบสะกดภาษาอังกฤษ
Emon (ไทย) เอม-อร เอ-มอน
Hide (ญี่ปุ่น) ฮิเดะ ไฮด์
Loung Bich Huu (เวียดนาม) เลือง บึ๊จ เหิว ลวง บิจ ฮู
Mao ze dong (จีนกลาง) เหมาเจ๋อตง เมา เซ ดง
Ngo Thanh Van (เวียดนาม) โง แถ่ง เวิน โง แทนห์ วาน
Nguyen Ai Quoc (เวียดนาม) เงวี๋ยน อ่าย กว๊อก งูเยน ไอ คว๊อค
Ryoga (ญี่ปุ่น) เรียวงะ เรียวกะ
Samang (ไทย) สำอาง ซามัง
Ueino Mayuko (ญี่ปุ่น) อุเออิโนะ มายูโกะ ยูเอโน่ มายูโค
Usa (ไทย) อุษา ยูซ่า
Zhang Shan Feng (จีนกลาง) จังซานเฟิง ซาง ชาน เฟง
zhang zi yi (จีนกลาง) จังจื่ออยี๋ ซาง ซิ ยิ

ปัญหาเรื่องความเข้าใจตรงนี้จะหมดไปเมื่อทำความเข้าใจกันก่อนว่า
ข้อความอะไรก็ตามที่สะกดด้วยอักษรโรมันใช่ว่าจะอ่านออกเสียงตามหลักภาษาอังกฤษเสมอไป
บทสรุปก็คือ ไม่ว่าจะสะกดว่า Ip man หรือ Yip man ก็อ่านว่า "หยิปหมั่น" ทั้งนั้นครับ
แล้วก็ไม่ได้สะกดว่า I.P. Man เพราะฉะนั้นไม่มีทางอ่านว่า ไอ พี แมน ได้เลย
ป.ล. ใหน ๆ ก็ได้เขียนแล้ว วันนี้หนัง "หยิปหมั่น" ภาค 2 เริ่มฉายแล้ว ยังไง ๆ ก็ไปดูกันหน่อยครับ
(ไม่ได้ค่าโฆษณาอะไรเลยนะเนี่ย)
ตัวอย่างจากภาคแรก




ถ้าฟังดูจะเห็นว่า เจิ้น จื่อ ตัน ออกเสียงว่า "หยิปหมั่น" ครับ ไม่ได้ออกเสียงว่า อิป แมน หรือ ไอพีแมน
ตัวอย่างภาค 2 ที่กำลังเข้าโรงฉายอยู่ทุกวันนี้